วันเสาร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2555

พระนางซูสีไทเฮาในวัฒนธรรมทางการเมืองของราชวงศ์ชิง



พระนางซูสีไทเฮาในวัฒนธรรมทางการเมืองของราชวงศ์ชิง

พระนางซูสีไทเฮา (慈禧太后 ค.ศ. 1835 – ค.ศ. 1908) เป็นสตรีที่มีบทบาททางการเมืองอย่างมากในช่วงทศวรรษท้ายๆของราชวงศ์ชิง (清朝) พระนางคือผู้ปกครองจีนหลังม่าน (垂帘听政) ตลอดรัชสมัยจักรพรรดิถงจื้อ (同治ค.ศ. 1861 – ค.ศ. 1875) ผู้เป็นพระราชโอรส และต่อเนื่องมาจนสิ้นรัชสมัยจักรพรรดิกวางสู (光绪ค.ศ. 1875 – ค.ศ. 1908) ผู้เป็นพระราชโอรสบุญธรรม และก่อนที่พระนางจะสิ้นพระชนม์ก็ได้แต่งตั้งให้เจ้าชายผู่อี๋ (溥仪) ขึ้นครองราชสมบัติเป็นจักรพรรดิซวนถ่ง (宣统ค.ศ. 1908 – ค.ศ. 1912) อันเป็นรัชกาลสุดท้ายของระบอบจักรพรรดิจีนที่ยาวนานมาหลายพันปี บทบาททางการเมืองที่ยาวนานกว่าครึ่งศตวรรษของพระนางมักได้รับการเปรียบเทียบกับบทบาทของพระนางอู่เจ๋อเทียน (武则天ค.ศ. 627 – ค.ศ. 705) พระมเหสีของจักรพรรดิเกาจง (高宗) แห่งราชวงศ์ถัง (唐朝) ต่างกันแต่เพียงว่าพระนางซูสีไทเฮานั้นแสดงบทบาทเป็น “อำนาจหลังราชบัลลังก์” หากแต่พระนางอู่เจ๋อเทียนนั้นสามารถก้าวขึ้นมาเป็นจักรพรรดิหญิงพระองค์เดียวในประวัติศาสตร์จีนได้สำเร็จใน ค.ศ. 690

ช่วงเวลาที่พระนางซูสีไทเฮามีบทบาททางการเมืองอยู่นั้นตรงกับยุคหลังสงครามฝิ่นและสนธิสัญญานานกิง อันเป็นจุดเริ่มต้นของยุคแห่งความอัปยศอดสูของจีน จีนต้องเผชิญทั้งความวุ่นวายภายในและการรุกรานจากภายนอก ไม่ว่าจะเป็นสงครามฝิ่นครั้งที่ 2 (ค.ศ. 1856 – ค.ศ. 1860)กบฏไท่ผิง (ค.ศ. 1851 – ค.ศ. 1864) สงครามจีน-ฝรั่งเศส (ค.ศ. 1884) สงครามจีน-ญี่ปุ่น (ค.ศ. 1894 – ค.ศ. 1895) กรณีนักมวยและการที่แปดชาติมหาอำนาจบุกยึดกรุงปักกิ่ง (ค.ศ. 1900) โดยมองกันว่าพระนางซูสีไทเฮาเป็นตัวการสำคัญที่นำความหายนะมาสู่แผ่นดิน ไม่ว่าจะเป็นการที่พระนางเจียดเอางบประมาณกองทัพเรือไปใช้ในการบูรณะพระราชวังฤดูร้อนอี๋เหอหยวน (颐和园) เพื่อให้ตนเองได้ใช้พักผ่อนหย่อนใจ จนทำให้กองทัพเรือจีนต้องพ่ายแพ้แก่ญี่ปุ่น หรือการที่พระนางขัดขวางการปฏิรูปประเทศของจักรพรรดิกวางสูและนำจีนไปสู่ความหายนะด้วยการสนับสนุนพวกนักมวยเพื่อต่อต้านอิทธิพลต่างชาติ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ถ้าเราพิจารณาถึงบทบาททางการเมืองของพระนางในฐานะพระราชวงศ์ฝ่ายใน โดยตัดประเด็นเรื่องความวุ่นวายจากภายในและภายนอกประเทศออกไปแล้วจะพบว่า บทบาทของพระนางนั้นมิได้เป็นสิ่งที่ผิดปกติแต่อย่างใดสำหรับพระราชวงศ์ฝ่ายในชาวแมนจู

ข้อควรสังเกตประการหนึ่งในการศึกษาประวัติศาสตร์จีนก็คือ สถานภาพที่แตกต่างกันระหว่างสตรีชาวฮั่นกับสตรีชาว “อนารยชน” อย่างมองโกลและแมนจู ส่งผลให้บทบาททางการเมืองของสตรีเหล่านั้นพลอยแตกต่างกันไปด้วย ชาวจีนฮั่นอาศัยอยู่ในเขตที่สามารถทำการเกษตรและยังชีพได้ตลอดปีโดยไม่ต้องย้ายถิ่นฐานบ่อยๆ (ยกเว้นเกิดภัยธรรมชาติอย่างรุนแรง) การเป็นสังคมที่ไม่ต้องอพยพบ่อยได้ทำให้ในที่สุดแล้วสตรีชาวฮั่นถูกจำกัดบทบาทแต่เฉพาะภายในเขตที่พักอาศัยของตนเองโดยรับผิดชอบงานบ้านเป็นหลัก และเพื่อป้องกันไม่ให้สตรีกระทำการใดๆนอกขอบเขตที่พักอาศัยของตน ประเพณีการมัดเท้าของสตรีชาวฮั่นจึงได้เริ่มขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 10 และปฏิบัติสืบต่อกันมานานกว่า 1,000 ปี พระราชวงศ์ฝ่ายในสมัยราชวงศ์ซ่ง (宋朝ค.ศ. 960 – ค.ศ. 1279) และราชวงศ์หมิง (明朝ค.ศ. 1368 – ค.ศ. 1644) มีบทบาทส่วนใหญ่จำกัดอยู่เฉพาะในเขตพระราชฐานชั้นในเท่านั้น

ในทางตรงกันข้าม สังคมของ “อนารยชน” อย่างชาวมองโกลและแมนจูนั้นเป็นสังคมทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ที่มีการอพยพไปตามฤดูกาล สตรีในสังคมดังกล่าวจึงมิอาจอยู่กับที่ได้ ดังนั้นพวกเธอจึงไม่ถูกจำกัดบทบาทเฉกเช่นสตรีชาวฮั่น และยิ่งถ้าเป็นพระราชวงศ์ฝ่ายในก็มักจะได้เข้ามาแสดงบทบาททางการเมืองอีกด้วย ถ้าเราพิจารณาประวัติศาสตร์สมัยราชวงศ์หยวน (元朝ค.ศ. 1206 – ค.ศ. 1368) ที่สถาปนาโดยชาวมองโกลแล้วจะพบว่า ได้มีจักรพรรดินีขึ้นปกครองประเทศในช่วงที่เกิดสุญญากาศทางการเมืองหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นจักรพรรดินีไหน่หม่าเจิน (乃马真后ค.ศ. 1241 – ค.ศ. 1245) และจักรพรรดินีไห่หมี่ซื่อ (海迷失后ค.ศ. 1248 – ค.ศ. 1250) ต่อมาในสมัยราชวงศ์ชิง (ค.ศ. 1644 – ค.ศ. 1912) สตรีชาวแมนจูก็มีอิสระมากกว่าสตรีชาวฮั่น พวกเธอไม่ต้องมัดเท้า พระราชวงศ์ฝ่ายในสมัยราชวงศ์ชิงมีอิสระในการออกสู่สาธารณชนมากกว่าสมัยราชวงศ์ซ่งและราชวงศ์หมิง และมิต้องจำกัดตนเองอยู่แต่ในพระราชฐานชั้นใน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือเจ้าหญิงเหอเสี้ยว (和孝) พระราชธิดาองค์ที่ 10 ในจักรพรรดิเฉียนหลง (乾隆ค.ศ. 1735 – ค.ศ. 1795) เจ้าหญิงองค์ดังกล่าวนิยมการขี่ม้า และได้ตามเสด็จพระราชบิดาไปล่าสัตว์เป็นประจำ นอกจากเสรีภาพนอกเขตพระราชฐานชั้นในแล้ว วัฒนธรรมทางการเมืองของชาวแมนจูยังได้อนุญาตให้พระราชวงศ์ฝ่ายในเข้ามามีบทบาทในยามที่เกิดวิกฤตหรือสุญญากาศทางการเมืองอีกด้วย ตัวอย่างที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้รวมสองกรณีจะช่วยให้เราเข้าใจประเด็นดังกล่าวชัดเจนยิ่งขึ้น

กรณีแรกเกิดขึ้นใน ค.ศ. 1626 เมื่อจักรพรรดิเทียนมิ่ง (天命) หรือนูร์ฮาชือ (努尔哈赤) สิ้นพระชนม์ลงโดยมิได้ทรงตั้งรัชทายาท หากแต่ในที่สุดแล้วพระราชโอรสองค์ที่ 8 นามว่าหวงไท่จี๋ (皇太极) ได้ยึดอำนาจด้วยการบังคับให้พระราชชายา (大福晋) ของพระราชบิดา นามว่า อาปาไห้ (阿巴亥) ฆ่าตัวตาย จากนั้นพระองค์จึงขึ้นครองราชสมบัติเป็นจักรพรรดิเทียนชง (天聪) งานศึกษาของ Evelyn S. Rawski (1998) เรื่อง The Last Emperor: A Social History of Qing Imperial Institutions ได้ชี้ให้เห็นถึงสาเหตุที่หวงไท่จี๋ต้องบังคับให้อาปาไห้ทำเช่นนี้เพราะว่า หากพระนางยังมีพระชนม์ชีพอยู่ต่อไป พระนางอาจจะใช้สิทธิธรรมทางการเมืองตามประเพณีแมนจูกำหนดให้พระโอรสของพระนางนามว่า ตัวเอ่อร์คุน (多尔衮) เป็นผู้สืบราชสมบัติ

กรณีที่สองเกิดขึ้นเมื่อ ค.ศ. 1820 และเกี่ยวข้องกับการสืบราชสมบัติเช่นเดียวกับกรณีแรก กล่าวคือ จักรพรรดิเจียชิ่ง (嘉庆) ได้สิ้นพระชนม์ลงอย่างกะทันหันที่พระราชวังหลบร้อนเมืองเฉิงเต๋อ (承德避暑山庄) ตามธรรมเนียมปฏิบัติที่จักรพรรดิยงเจิ้ง (雍正) ได้กำหนดไว้เมื่อ ค.ศ. 1723 นั้น จักรพรรดิจะทรงเขียนชื่อผู้สืบราชสมบัติใส่ไว้ในกล่องแล้วนำกล่องนั้นไปซ่อนไว้หลังป้ายเจิ้งต้ากวางหมิง (正大光明) ในท้องพระโรงพระตำหนักเฉียนชิง (乾清宫) ในพระราชวังต้องห้าม เมื่อจักรพรรดิสิ้นพระชนม์ลงแล้วเจ้าพนักงานจะขึ้นไปหยิบกล่องดังกล่าวมาเปิดดูชื่อผู้สืบราชสมบัติ หากแต่เมื่อจักรพรรดิเจียชิ่งสิ้นพระชนม์ลง เจ้าพนักงานกลับไม่พบกล่องดังกล่าว ทั้งๆที่จักรพรรดิเจียชิ่งเคยทรงประกาศว่าพระองค์ได้กำหนดชื่อรัชทายาทใส่ไว้ในกล่องและซ่อนไว้หลังป้ายแล้ว หนังสือชื่อ ความจริงเกี่ยวกับสิบสองจักรพรรดิแห่งราชวงศ์ชิง (正说清朝十二帝) โดย เหยียนฉงเหนียน (阎崇年) นักวิจัยด้านแมนจูศึกษาแห่งสถาบันสังคมศาสตร์กรุงปักกิ่ง (北京社会科学院满学研究所) ได้ชี้ให้เห็นถึงบทบาทที่สำคัญในช่วงเวลาดังกล่าวของพระนางเสี้ยวเหอ (孝和皇后) จักรพรรดินีในจักรพรรดิเจียชิ่ง กล่าวคือ เมื่อเจ้าพนักงานไม่พบกล่องดังกล่าวจนทำให้ไม่อาจกำหนดผู้สืบราชสมบัติได้ พระนางเสี้ยวเหอจึงได้ให้เจ้าพนักงานขี่ม้าด่วนเชิญพระราชเสาวนีย์ของพระนางไปประกาศยังพระราชวังหลบร้อนเมืองเฉิงเต๋อ ใจความว่าพระนางมีพระราชประสงค์ให้เจ้าชายหมินหนิง (旻宁) พระราชโอรสของจักรพรรดิเจียชิ่งที่ประสูติจากพระนางเสี้ยวซู (孝淑皇后) จักรพรรดินีผู้ล่วงลับไปก่อนหน้านี้แล้ว ให้ขึ้นสืบราชสมบัติต่อจากพระราชบิดา แม้ว่าต่อมาเจ้าพนักงานจะค้นพบกล่องใส่ชื่อผู้สืบราชสมบัติของจักรพรรดิเจียชิ่ง และเจ้าชายหมินหนิงก็ได้ขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิเต้า กวง (道光) ตามพระราชประสงค์ของพระราชบิดา หากแต่การกระทำของพระนางเสี้ยวเหอในครั้งนั้นสะท้อนว่าธรรมเนียมปฏิบัติของราชวงศ์ชิงได้เปิดโอกาสให้พระราชวงศ์ฝ่ายในเข้ามามีบทบาททางการเมืองในยามวิกฤตได้

งานศึกษาของ Evelyn S. Rawski (1998) ยังชี้ให้เห็นประเด็นเพิ่มเติมด้วยว่า นอกจากความชอบธรรมของพระราชวงศ์ฝ่ายในในการเข้ามามีบทบาททางการเมืองแล้ว พระราชวงศ์ฝ่ายในสมัยราชวงศ์ชิงยังมีวิธีการสร้างฐานอำนาจที่แตกต่างไปจากพระราชวงศ์ฝ่ายในในราชวงศ์ของชาวฮั่นอีกด้วย กล่าวคือ ขณะที่พระราชวงศ์ฝ่ายในชาวฮั่นสร้างฐานอำนาจด้วยการดึงคนในตระกูลของตนเองเข้ามารับราชการในตำแหน่งสำคัญ ตัวอย่างเช่นในราชวงศ์ถังที่พระนางอู่เจ๋อเทียนสนับสนุนคนแซ่อู๋ (武) ให้เข้ารับราชการในตำแหน่งสำคัญ หากแต่พระราชวงศ์ฝ่ายในชาวแมนจูกลับสร้างฐานอำนาจด้วยการแสวงหาความร่วมมือกับเหล่าเชื้อพระวงศ์ด้วยกันเอง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดก็คือ ในช่วงต้นรัชสมัยซุ่นจื้อ (顺治ค.ศ. 1644 – ค.ศ. 1661) พระนางเสี้ยวจวง (孝庄太后) พระราชชนนีของจักรพรรดิผู้เยาว์วัยได้สร้างความมั่นคงทางอำนาจด้วยการร่วมมือกับตัวเอ่อร์คุน ผู้นำกองทัพธงขาวและเป็นพระปิตุลาของจักรพรรดิ ดังนั้นคำว่า “พระญาติฝ่ายมเหสี” จึงแทบจะมิได้ปรากฏออกมาในสมัยราชวงศ์ชิง หรือแม้จะปรากฏออกมาบ้างเล็กน้อยแต่ก็มิได้ช่วยเพิ่มพูนอำนาจให้กับพระราชวงศ์ฝ่ายในองค์ดังกล่าว ตัวอย่างของพระญาติฝ่ายมเหสีสมัยราชวงศ์ชิงก็คือ ถงกั๋วกัง (同国纲) และ ถงกั๋วเหวย (同国维) สองพี่น้องที่เป็นพระอนุชาของพระนางเสี้ยวคัง (孝康太后) พระราชชนนีของจักรพรรดิคังซี (康熙ค.ศ. 1661 – ค.ศ. 1722) ทั้งสองเป็นขุนนางผู้ใหญ่ในช่วงกลางรัชสมัยคังซี บุตรชายของถงกั๋วเหวยนามว่า หลงเคอตัว (隆科多) นั้นต่อมาได้มีบทบาทสนับสนุนให้พระราชโอรสองค์ที่ 4 ของจักรพรรดิคังซีได้ขึ้นครองราชย์เป็นจักรพรรดิยงเจิ้งใน ค.ศ. 1722 อย่างไรก็ตามบทบาทและอำนาจของพวกเขาเหล่านี้มิได้เอื้อประโยชน์ต่อพระนางเสี้ยวคังแต่อย่างใด เนื่องจากพระนางได้สิ้นพระชนม์ไปตั้งแต่ปีแรกๆของรัชสมัยคังซีแล้ว

การพิจารณาประเด็นที่กล่าวมาข้างต้นจะช่วยให้เราเข้าใจบทบาทของพระนางซูสีไทเฮาได้ดียิ่งขึ้น พระนางขึ้นมามีอำนาจโดยอาศัยความร่วมมือกับเชื้อพระวงศ์ฝ่ายชายอย่างเจ้าชายกง (恭亲王) ในช่วงต้นรัชสมัยถงจื้อ และเจ้าชายฉุน (醇亲王) ในต้นรัชสมัยกวางสู ซึ่งแนวทางดังกล่าวนั้นเป็นไปในทำนองเดียวกับการที่พระนางเสี้ยวจวงร่วมมือกับพระปิตุลาตัวเอ่อร์คุนเมื่อสองศตวรรษก่อนหน้านั้น นอกจากนี้ยังเป็นที่น่าสังเกตอีกว่าตลอดเวลาที่พระนางซูสีไทเฮามีบทบาททางการเมือง คนในตระกูลเย่เห่อน่าลา (叶赫那拉氏) ของพระนางกลับมิได้เข้ามารับราชการในตำแหน่งสำคัญเลย แม้กระทั่งสตรีฝ่ายในที่ห้อมล้อมพระนางอยู่ในพระราชฐานชั้นในส่วนใหญ่ก็มิใช่คนในตระกูลของพระนาง จะมีก็แต่พระนางหลงยู่ (隆裕皇后) จักรพรรดินีในจักรพรรดิกวางสูเท่านั้นที่มาจากตระกูลเย่เห่อน่าลา นอกนั้นต่างเป็นพระธิดาของพระราชวงศ์แมนจูทั้งสิ้น เช่น เจ้าหญิงกู้หลุน (固伦公主) พระธิดาในเจ้าชายกง เจ้าหญิงเต๋อหลิง (德龄公主) พระธิดาในเจ้าชายชิ่ง (庆亲王) เป็นต้น ดังนั้นเราจึงไม่อาจเทียบเคียงพระนางซูสีไทเฮากับพระนางอู่เจ๋อเทียนในแง่ของการสร้างฐานอำนาจได้ เนื่องจากพระนางอู่เจ๋อเทียนได้สร้างฐานอำนาจใหม่ที่เป็นอิสระจากเชื้อพระวงศ์ราชวงศ์ถัง หากแต่พระนางซูสีไทเฮากลับใช้เชื้อพระวงศ์ที่มีอยู่ของราชวงศ์ชิงให้เป็นประโยชน์ในการเสริมสร้างอำนาจ และการกระทำของพระนางในเรื่องนี้ก็สอดคล้องกับแนวทางที่พระราชวงศ์ฝ่ายในชาวแมนจูปฏิบัติสืบต่อกันมาแต่ครั้งต้นราชวงศ์

ปัญหาการแต่งตั้งรัชทายาทระหว่าง ค.ศ. 1899 – ค.ศ. 1900 เป็นกรณีหนึ่งที่นักประวัติศาสตร์มักลงความเห็นกันว่าพระนางซูสีไทเฮาเป็นบุคคลเลวร้าย กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่พระนางได้ขัดขวางการปฏิรูปประเทศของจักรพรรดิกวางสูใน ค.ศ. 1898 ได้สำเร็จ จักรพรรดิถูกพระนางสั่งกักบริเวณเอาไว้ในพระที่นั่งกลางทะเลสาบทางตะวันตกของพระราชวังต้องห้าม หลังจากนั้นไม่นานพระนางมีดำริจะแต่งตั้งผู่จุ้น (溥俊) โอรสของเจ้าชายตวน (端王) ขึ้นเป็นรัชทายาท หากแต่ไม่ได้รับการสนับสนุนจากต่างชาติ พระนางจึงต้องเลี่ยงกระแสคัดค้านด้วยการแต่งตั้งให้ผู่จุ้นเป็นต้าอาเกอ (大阿哥) อันเป็นคำที่ใช้เรียกพระราชโอรสองค์ใหญ่ของจักรพรรดิ การแต่งตั้งรัชทายาทในครั้งนี้มีการมองกันว่าพระนางมีแผนการจะปลงพระชนม์จักรพรรดิกวางสูโดยอ้างว่าทรงพระประชวรจนสิ้นพระชนม์ จากนั้นรัชทายาทผู่จุ้นที่อยู่ภายใต้การควบคุมของพระนางจะได้ขึ้นสืบราชสมบัติ อัตชีวประวัติของจักรพรรดิองค์สุดท้าย เรื่อง จากจักรพรรดิสู่สามัญชน ก็ได้ยืนยันข้อมูลทำนองนี้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การค้นคว้าของนักวิชาการที่เข้าถึงเอกสารชั้นต้นกลับให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่าพระนางมีเหตุผลไม่น้อยในการแต่งตั้งรัชทายาทในช่วงดังกล่าว หนังสือเรื่อง ไขปริศนาจากจดหมายเหตุราชวงศ์ชิง (清宫档案揭秘) ที่มี หลี่กั๋วหรง (李国荣) และคณะเป็นบรรณาธิการได้ให้ข้อมูลจากบันทึกของแพทย์หลวงว่า จักรพรรดิกวางสูมีพระพลานามัยที่ไม่สมบูรณ์มาแต่ยังทรงพระเยาว์ และเมื่อถึง ค.ศ. 1899 พระอาการของพระองค์ได้ทรุดหนักลงมากจนเกรงกันว่าจะสิ้นพระชนม์ในไม่ช้า การที่จักรพรรดิกวางสูไม่มีพระราชโอรสและพระราชธิดาได้ทำให้พระนางซูสีไทเฮาเกรงว่าถ้าจักรพรรดิสิ้นพระชนม์ลงจริงจะเกิดปัญหาการสืบราชสมบัติตามมา ดังนั้นเพื่อป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว พระนางจึงเห็นความจำเป็นในการแต่งตั้งรัชทายาทไว้ล่วงหน้า และการกระทำดังกล่าวของพระนางก็ถือว่าชอบธรรมเนื่องจากวัฒนธรรมทางการเมืองของราชวงศ์ชิงเปิดโอกาสให้พระราชวงศ์ฝ่ายในเข้าแทรกแซงในยามวิกฤตได้ งานวิจัยของ Sue Fawn Chung (1979) เรื่อง The Much-Maligned Empress Dowager: A Revisionist Study of the Empress Dowager Tz’u – Hsi (1835-1908) ได้ชี้ให้เห็นว่าฝ่ายปฏิรูปที่นำโดยคังโหย่วเหวย (康有为) และเหลียงฉี่เชา (梁启超) ซึ่งเพิ่งจะปราชัยต่อพระนางในการปฏิรูปการปกครอง ค.ศ. 1898 ได้มีส่วนสำคัญในการใช้สื่อสารมวลชนสมัยใหม่คือหนังสือพิมพ์ในการสร้างภาพลักษณ์ทางลบให้แก่พระนางและบิดเบือนความจริงเกี่ยวกับการแต่งตั้งรัชทายาทในครั้งนี้

ข้อมูลทั้งหมดนี้ชี้ให้เห็นว่า ในการศึกษาบทบาททางการเมืองของพระนางซูสีไทเฮานั้น เราจำเป็นจะต้องนำเอาวัฒนธรรมทางการเมืองของราชวงศ์ชิงมาประกอบการพิจารณาด้วย กล่าวคือ วัฒนธรรมทางการเมืองของราชวงศ์ชิงได้อนุญาตให้พระราชวงศ์ฝ่ายใน “ถือวิสาสะ” เข้ามาแทรกแซงการเมืองในยามวิกฤตได้ ดังนั้นบทบาทของพระนางซูสีไทเฮาจึงเป็นไปตามแนวทางที่พระราชวงศ์ฝ่ายในชาวแมนจูเคยปฏิบัติกันมา อย่างไรก็ตาม ในบทความนี้ผู้เขียนเน้นถึงความชอบธรรมของพระนางซูสีไทเฮาในการเข้ามาแสดงบทบาททางการเมืองเท่านั้น ส่วนประเด็นที่ว่าพระนางมีส่วนต้องรับผิดชอบมากน้อยเพียงใดในเหตุการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการสิ้นพระชนม์ก่อนวัยอันควรของจักรพรรดิถงจื้อและกวางสู การสิ้นพระชนม์อย่างมีเงื่อนงำของพระนางฉืออัน (慈安太后) ความพ่ายแพ้ของจีนในสงครามกับฝรั่งเศสและญี่ปุ่น ความล้มเหลวในการปฏิรูปการปกครองของจักรพรรดิกวางสู รวมทั้งกรณีนักมวย ทั้งหมดนี้ยังคงเป็นปริศนาที่ต้องศึกษาค้นคว้ากันต่อไป

วันศุกร์ที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2555

ราชวงศ์เซี่ย (2100-1600 ปีก่อนคริสต์ศักราช)


ราชวงศ์เซี่ย (ภาษาอังกฤษ : Xia Dynasty) (ภาษาจีนกลาง : 夏朝) (พินอิน : xià cháo) เป็นราชวงศ์แรกของจีน ปกครองประเทศจีนในช่วง 2100-1600 ปีก่อนคริสตกาล มีอายุอยู่ได้ราว 500 ปี ในอดีตนักวิชาการและบุคคลโดยทั่วไปเชื่อว่าเรื่องราวของราชวงศ์เซี่ยเป็นเพียงเรื่องแต่งหรือปรัมปราที่เล่าสืบต่อกันมา แต่ปัจจุบันมีการขุดค้นพบหลักฐานทางโบราณคดีที่เชื่อถือได้
ในปี ค.ศ. 1959 ได้เริ่มมีการค้นหาแหล่งที่มาของวัฒนธรรมเซี่ย โดยช่วงเวลาที่ผ่านมาได้เริ่มดำเนินการขุดค้นและตรวจสอบทางโบราณคดีรูปแบบต่างๆ ในพื้นที่แถบตะวันตกของเหอหนานและทิศใต้ของมณฑลซานซี เพื่อลดขอบเขตพื้นที่เป้าหมายในการค้นหาให้แคบเข้า ปัจจุบัน มีนักวิชาการจำนวนมากเห็นว่า วัฒนธรรมเอ้อหลี่โถว (二里头文化) จากหลุมขุดค้นเหยี่ยนซือเอ้อหลี่โถวและวัฒนธรรมหลงซาน (龙山文化) ในเขตตะวันตกของมณฑลเหอหนานนั้น น่าจะเป็นวัฒนธรรมในสมัยเซี่ย แต่เนื่องจากยังขาดหลักฐานทางตรงและหลักฐานที่เป็นตัวอักษร ดังนั้นปัจจุบันนี้ จึงยังคงไม่อาจระบุชัดว่าสิ่งที่ขุดค้นได้มาเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมเซี่ยหรือไม่ อย่างไรก็ตาม หลักฐานที่พบในวัฒนธรรมหลงซานและวัฒนธรรมเอ้อหลี่โถว ก็ทำให้มีข้อมูลมากพอที่จะช่วยเสริมความรู้ที่ขาดหายไปในช่วงเวลานี้เป็นอย่างดี
จากบันทึกของซือหม่าเซียน ทำให้นักประวัติศาสตร์จีนมักเริ่มนับราชวงศ์เซี่ยโดยเริ่มจากเซี่ยหวี่ (夏禹)หรือพระเจ้ายู้ ถึงลวี่กุ่ย (履癸) หรือเซี่ยเจี๋ย (夏桀) ในระยะเวลา 400 กว่าปี มีกษัตริย์ครองบัลลังก์ 17 พระองค์ มีการสืบทอดอำนาจถึง 14 ชั่วคน
การก่อตั้งราชวงศ์เซี่ยซึ่งมีรากฐานของอำนาจจากการยึดครองทรัพย์สินเป็นของส่วนตัว เป็นสัญญาณว่าสังคมยุคดึกดำบรรพ์ที่ทรัพย์สินเป็นของสาธารณะอันยาวนาน กำลังถูกแทนที่ด้วยสังคมแบบยึดครองทรัพย์สินส่วนตัว และนี่ก็เป็นวิวัฒนาการในประวัติศาสตร์ช่วงเวลาหนึ่ง ทว่า โดยปกติการก่อเกิดของระบบใหม่ มักต้องเผชิญกับแรงต้านจากฝ่ายอนุรักษ์ เมื่อเซี่ยฉี่ (夏启) บุตรของเซี่ยหวี่เข้ารับสืบทอดตำแหน่งของบิดา (禹) ก็ได้เชิญบรรดาหัวหน้าชนเผ่าจากดินแดนต่างๆ มาร่วมในงานเลี้ยง เพื่อรับรองการขึ้นสู่ตำแหน่งใหม่ของตน
กลุ่มฮู่ซื่อ (扈氏) ไม่พอใจเซี่ยฉี่ ที่ยกเลิกระบบการคัดสรรผู้มีความสามารถเพื่อดำรงตำแหน่งผู้นำที่มีอยู่เดิม จึงไม่ได้เข้าร่วมในงานเลี้ยงนั้น เซี่ยฉี่จึงยกกองทัพออกไปปราบฮู่ซื่อ โดยทำศึกกันที่กาน (甘) ฮู่ซื่อพ่ายแพ้ถูกลบชื่อออกไป ชัยชนะจากการรบครั้งนี้ ทำให้ก้าวแรกของระบบอำนาจใหม่นี้แข็งแรงขึ้น
ระบบการปกครองแบบใหม่นี้ค่อยๆ พัฒนาขึ้น ขณะที่ผู้ปกครองคนใหม่ ต้องเผชิญปัญหาการขาดประสบการณ์ในการปกครอง รากฐานของอำนาจที่มาจากการยึดครองทรัพย์สินเป็นของส่วนตัว ในช่วงระยะของการฟูมฟักของการก้าวขึ้นสู่อำนาจที่ยิ่งใหญ่กว่านี้ สภาพการขูดรีด แย่งชิง และความกระหายในการเสพสุขของผู้ปกครองก็ยังเป็นไปอย่างรุนแรง และย่อมไม่อาจหลีกเลี่ยงจากการแย่งชิงผลประโยชน์และอำนาจในกลุ่มผู้ปกครองด้วยกันเองได้
ดังนั้น เมื่อเซี่ยฉี่ตายลง บุตรชายของเขาทั้งห้าคนก็แย่งชิงอำนาจกัน ผลคือเมื่อไท่คัง (太康) ได้ขึ้นครองบัลลังก์ต่อจากฉี่ (ครองราชย์ 29 ปี) ก็ไม่สนใจดูแลกิจการงานเมือง เฝ้าหมกมุ่นอยู่กับสุรานารี ต่อมาจึงถูกอี้ (羿) ซึ่งเป็นผู้นำของรัฐฉง (穷氏) สบโอกาสเข้าแย่งชิงอำนาจ ภายหลังเมื่ออี้ถูกขุนนางของเขาที่ชื่อหานจั๋ว (寒浞) สังหารแล้ว เส้าคัง (少康) (ครองราชย์ 21 ปี) บุตรชายของไท่คังซึ่งหลบหนีไปรัฐโหย่วหวี (有虞氏) ได้รับความช่วยเหลือจากโหย่วหวี รวบรวมขุมกำลังเก่าของเซี่ยขึ้นใหม่ แล้วอาศัยช่วงเวลาที่ภายในของกลุ่มหานจั๋วเกิดความวุ่นวาย เข้าช่วงชิงอำนาจเพื่อกอบกู้ราชวงศ์เซี่ยกลับคืนมา
นี่คือเหตุการณ์ที่เป็นหลักหมายทางประวัติศาสตร์สมัยราชวงศ์เซี่ย ที่เรียกขานกันต่อมาว่า "ไท่คังเสียเมือง " (太康失国) "อี้ยึดครองเซี่ย" (后羿代夏) และ "เส้าคังฟื้นฟูเซี่ย" (少康中兴)
เมื่อถึงปลายราชวงศ์ ศูนย์อำนาจภายในเกิดความวุ่นวายทั้งภายในและภายนอกไม่หยุดยั้ง ข้อขัดแย้งทางชนชั้นทวีความรุนแรงมากขึ้น เมื่อเซี่ยเจี๋ย (夏桀) ได้ขึ้นครองบัลลังก์ (ช่วงก่อนคริสต์ศักราช 1,763 ปี ครองราชย์ 52 ปี) ก็ไม่คิดจะปฏิรูปแก้ไขสิ่งใด ยังคงเห่อเหิมฟุ้งเฟ้อในอำนาจ โดยสั่งให้ก่อสร้างตำหนักพระราชวัง ใช้จ่ายเงินทองฟุ่มเฟือยมากมาย มัวเมาอยู่กับสุรานารี โดยไม่สนใจใยดีต่อความทุกข์ยากของเหล่าประชาราษฎร์พากันก่นด่าประณาม เหล่าขุนนางที่จงรักภักดี กลับถูกสั่งคุมขังหรือประหารชีวิต บรรดาเจ้านายชั้นสูงต่างก็พากันเอาใจออกห่าง เซี่ยเจี๋ยจึงตกอยู่ในฐานะโดดเดี่ยว ซางทัง (商汤) ซึ่งเป็นปฐมกษัตริย์ต่อมาคือราชวงศ์ซาง เห็นเป็นโอกาสเหมาะ จึงใช้ข้ออ้างว่า "ฟ้ากำหนด" กล่าวหาว่าเซี่ยทำผิดต่อฟ้า จึงต้องถูกลงทัณฑ์ โดยขอให้ทุกคนรวมพลังกันเข้าโจมตี เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์แห่งฟ้า การศึกระหว่างซางทังและเซี่ยเจี๋ยที่หมิงเถียว (鸣条) ซางทังชนะ เจี๋ยหลบหนีไป และเสียชีวิตที่หนานเฉา ราชวงศ์เซี่ยจึงถึงกาลอวสาน

เขตแดนราชวงศ์เซี่ย

" ติ่ง " ภาชนะดินเผาใช้ในการหุงหาอาหาร


ราชวงศ์โจวตะวันออก หรือ ยุคชุนชิว (770-256 ปีก่อนคริสต์ศักราช)


หลังจากอาณาจักรโจวตะวันตกของพระโจวโยวหวังล่มสลายลงโดยความร่วมมือของเจ้านครรัฐบางคนกับเผ่าเฉวี่ยนหรงแล้ว พวกเขาสถาปนารัชทายาท อี้จิ้ว ขึ้นเป็นกษัตริย์องค์ใหม่ทรงพระนามว่า พระเจ้าโจวผิงหวัง แล้วย้ายไปตั้งเมืองหลวงใหม่ที่ เมืองลั่วอี้ เนื่องจากเมืองเฮ่าได้รับความเสียหายจากเพลิงไหม้อย่างมาก นักประวัติศาสตร์เรียกช่วงการครองอำนาจของราชวงศ์นี้ว่า ยุคชุนชิว (Spring and Autumn Period) ซึ่งมีสงครามแย่งชิงความเป็นใหญ่ของเจ้านครรัฐต่างๆเป็นระยะเพื่อความเป็นเจ้าผู้นำนครรัฐ ยุคนี้เริ่มต้นในปี 770 ก่อนค.ศ. รัชสมัยพระเจ้าโจวผิงหวัง ถึง ปี 476 ก่อนค.ศ.หรือปีที่ 44 สมัยพระเจ้าโจวจิ้งหวัง


ยุคเลียดก๊ก


ต้นยุคชุนชิวแผ่นดินจีนมีประมาณสองร้อยนครรัฐ แต่สงครามแย่งชิงอำนาจหรือแผ่ขยายอิทธิพลต่างผนวกดินแดนต่างๆเข้ากับรัฐผู้ชนะจนกระทั่งเหลือเพียงรัฐใหญ่ เจ็ดรัฐมหาอำนาจในตอนปลายยุคชุนชิวนักประวัติศาสตร์จีนเรียกว่า เจ็ดมหานครรัฐแห่งยุคจั้นกั๋ว ได้แก่ รัฐฉี รัฐฉู่ รัฐเยียน รัฐฉิน รัฐหาน รัฐเว่ย และ รัฐเจ้า ยุคสมัยนี้มีสงครามดุเดือดระหว่างรัฐต่อเนื่อง รัฐฉินกับรัฐฉีได้รับการขนานนามเป็นสองรัฐมหาอำนาจฟากตะวันออกและฟากตะวันตก ซึ่งถือเป็นดุลอำนาจต่อกัน
ยุคนี้สิ้นสุดโดยการขึ้นครองอำนาจของ อิ๋งเจิ้ง แห่งรัฐฉิน หรือที่รู้จักกันในนาม จิ๋นซีฮ่องเต้ (พระเจ้าฉินสื่อหวงตี้) โดยถือเป็นจักรพรรดิองค์แรกของจีน

ราชวงศ์โจวตะวันตก (1046-771 ปีก่อนคริสต์ศักราช)


เผ่าโจวเป็นเผ่าเก่าแก่และใช้แซ่ จี โดยอาศัยแถบลุ่มน้ำเว่ยเหอ ต่อมาย้ายถิ่นไปอยู่ ฉีซาน (ด้านเหนืออำเภอฉีซาน มณฑลฉ่านซีปัจจุบัน) ซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ด้านการเพาะปลูกมากกว่า แล้วเรียกตนเองว่า ชาวโจว ผู้นำเผ่าทุกรุ่นต่างปรับปรุงโครงสร้างเผ่า ก่อสร้างบ้านเรือน และกำหนดตำแหน่งขุนนาง ทำให้มีลักษณะของชาติรัฐชัดขึ้น เมื่อผู้นำนามว่า จีฟา ทำลายราชวงศ์ซางสำเร็จแล้ว จึงสถาปนาราชวงศ์โจวขึ้นปกครองแผ่นดิน และเปลี่ยนพระนามเป็น พระเจ้าโจวอู่หวัง แล้วสร้างเมืองหลวงใหม่ที่ เมืองเฮ่า (ด้านตะวันตกอำเภอฉางอาน มณฑลส่านซีปัจจุบัน) นักประวัติศาสตร์เรียกแผ่นดินโจวช่วงนี้ว่า ราชวงศ์โจวตะวันตก นอกจากนั้นยังริเริ่มปูนบำเหน็จความชอบด้วยที่ดินและทรัพย์สินแก่ขุนนางซึ่งสร้างความชอบแก่แผ่นดินหรือเจ้าแผ่นดินเป็นครั้งแรกด้วย

เขตแดนราชวงศ์โจว



ราชวงศ์โจวตราระบบสืบสายวงศ์ขึ้นใช้อย่างชัดเจนเป็นครั้งแรก โดยกำหนดว่า ตำแหน่งกษัตริย์หรือเจ้านครรัฐต่างๆต้องสืบทอดเฉพาะบุตรคนโตของภรรยาเอกเท่านั้น บุตรที่เหลือจะรับการแต่งตั้งในตำแหน่งต่ำลงไป การสืบทอดชัดเจนนี้สร้างความมั่นคงแก่ราชวงศ์ยิ่งขึ้น
เมื่อล่วงถึงสมัยของพระเจ้าโจวโยวหวัง เมืองเฮ่าซึ่งเป็นเมืองหลวงเกิดแผ่นดินไหวร้ายแรง เกิดโรคระบาด ประชาชนลำบากยากแค้นโดยกษัตริย์ไม่สนใจไยดี กลับลุ่มหลงสุรานารีและความบันเทิงหรูหรา ส่วนขุนนางประจบสอพลอ ไม่ทำงานตามหน้าที่ ทำให้เจ้านครรัฐบางคนรวมตัวกับชนเผ่าฉวี่ยนหรงเข้าโจมตีและปลงพระชนม์กษัตริย์ ถือเป็นจุดสิ้นสุดอาณาจักรโจวตะวันตก

ราชวงศ์ซาง (1600-1046 ปีก่อนคริสต์ศักราช)




ราชวงศ์ซางมีอำนาจอยู่ประมาณ 550 ปี คือ ตั้งแต่ 1600-1046 ปีก่อนคริสต์ศักราช ในช่วงนี้เริ่มมีการก่อตั้งกองทหาร, ข้าราชการและมีการลงโทษตามกฎหมาย มีกษัตริย์ปกครองทั้งสิ้น 31 พระองค์ เมื่อพระเจ้าเจี๋ยแห่งราชวงศ์เซี่ยซึ่งไร้คุณธรรมสร้างความเกลียดชังแก่คนทั้งแผ่นดินเพิ่มขึ้น จนกระทั่งเปิดโอกาสให้ผู้ที่มิชอบพฤติกรรมของพระองค์รวมตัวกันเป็นกองกำลังเพื่อต่อต้านการปกครองของเจ้าแผ่นดิน ทัง มีอำนาจอยู่แถบเมืองซางได้รับการสนับสนุนจากหัวหน้าเผ่าต่างๆจึงใช้กำลังพลและอาวุธโค่นล้มการปกครองของราชวงศ์เซี่ย แล้วสถาปนาราชวงศ์ซางขึ้น โดยตั้งเมืองหลวงที่ เมืองปั๋ว (อำเภอเฉาเซี่ยน มณฑลซานตงปัจจุบัน) เนื่องจากทังเป็นชนชั้นสูงในราชวงศ์เซี่ยมาก่อน จึงถือว่าเป็นการปฏิวัติของชนชั้นสูงครั้งแรกในประวัติศาสตร์จีน นอกจากนั้นยุคนี้ยังเริ่มมีการใช้ภาชนะสำริดอย่างแพร่หลายโดยเฉพาะประเภท ถ้วยสุรา มีดวงพระจันทร์ กลองสำริด ซึ่งมีการขุดค้นพบเป็นหลักฐานกันมาก

เขตแดนราชวงศ์ซาง


การครองราชย์ช่วงแรกของพระเจ้าซางทังและทายาท บ้านเมืองมีความร่มเย็นเป็นสุขจนกระทั่งไปถึงพระเจ้าโจ้วหวัง ซึ่งเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายของราชวงศ์นี้เป็นผู้เหี้ยมโหด ขูดรีดเงินทองจากราษฎรอย่างหนักเพื่อสร้างอุทยานแห่งใหม่และลงโทษทัณฑ์แก่ผู้ต่อต้านนโยบายหรือสร้างความขัดเคืองใจด้วยการประหารชีวิต เหล่าขุนนางเสพสุขบนความทุกข์ของราษฎรโดยเจ้าแผ่นดินไม่เหลียวแล จึงสร้างแรงกดดันและเกิดการรวมตัวของพวกเผ่าโจวซึ่งอาศัยบนที่ราบสูงและมีกำลังเข้มแข็ง โดยผู้นำ ชื่อ จีฟา ได้รวมกำลังพลกับเผ่าอื่นที่ประสบความเดือดร้อนเพื่อโจมตีกองทัพของพระเจ้าโจ้วหวังซึ่งแตกพ่ายแพ้ยับเยินที่ มู่เหยีย พระเจ้าโจ้วหวังต้องฆ่าตัวตายด้วยการเผาตัวเอง ราชวงศ์ซางจึงล่มสลายลงแล้วสถาปนาราชวงศ์โจวปกครองแผ่นดินแทนราชวงศ์ซางเมื่อประมาณ 1046 ปีก่อนคริสตกาล

วันพฤหัสบดีที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2555

ม้าเหงื่อโลหิตเรื่องจริงไม่ใช่เพียงตำนาน

ข่าวจากผู้จัดการออนไลน์..26 กันยายน 2550

หนังสือพิมพ์สากล / ซินหัวเน็ต - จีนแผ่นดินใหญ่เปิดตัวม้าเหงื่อโลหิต จำนวน 3 ตัว ที่จัดว่าเป็นม้าพันธุ์ดีที่สุดพันธุ์หนึ่งของโลก ตามตำนานกล่าวกันว่าม้าพันธุ์ดังกล่าวยามที่ออกวิ่ง บริเวณแผงคอจะมีเหงื่อไหลออกมา เป็นสีแดงสดคล้ายเลือด ซึ่งทางจีนนำเข้าม้าพันธุ์นี้จากประเทศเติร์กเมนิสถานจำนวน 3 ตัว แบ่งเป็นตัวผู้ 1 ตัว และตัวเมียสองตัว โดยตัวผู้มีลักษณะสีดำทั้งตัว แต่กลับมีกีบเท้าสีขาว ตัวเมียอีกตัวกลับมีขนสีทอง นับเป็นเอกลักษณ์ของม้าสายพันธุ์นี้
     
     ม้าเหงื่อโลหิต (อักษรจีน: 汗血馬 พินอิน: hàn xǐe mǎ) เป็นม้าสายพันธุ์หนึ่ง ตามตำนานกล่าวกันว่าม้าพันธุ์ดังกล่าวยามที่ออก วิ่ง บริเวณแผงคอจะมีเหงื่อไหลออกมา เป็นสีแดงสดคล้ายเลือด ว่ากันว่าในสมัยจักรพรรดิฮั่นอู่ตี้เคยส่งทหารไปยังซีอี๋ว์เพื่อออกเสาะแสวงหาม้าเหงื่อโลหิตนี้ และยังมีเรื่องเล่าว่าม้าสายพันธุ์นี้เคยเป็นพาหนะให้กับเจงกิสข่านอีกด้วย



     
      คนทั่วโลกต่างยอมรับว่า ประเทศเติร์กเมนิสถาน เป็นถิ่นกำเนิดของม้าเหงื่อโลหิตหรือม้า Akhaltekin ปัจจุบันทั่วโลกมีม้าสายพันธุ์นี้จำนวน 3,000 ตัว ในจำนวนดังกล่าว มี 2,000 ตัว อยู่ในประเทศเติร์กเมนิสถาน โดยเติร์กเมนิสถานเตรียมการกำหนดให้ม้าเหงื่อโลหิตเป็นสมบัติของชาติ นอกจากนี้ยังสามารถพบเห็นสัญลักษณ์ของม้าเหงื่อโลหิตได้ในสัญลักษณ์ประจำชาติ และ เหรียญกษาปณ์


     
      ทั้งนี้ ปี 2002 และ 2006 ประธานาธิบดีซาพามูรัท นียาโจฟแห่งเติร์กเมนิสถาน เคยมอบม้าเหงื่อโลหิตให้กับรัฐบาลจีนจำนวน 2 ตัว รวมกับตอนนี้ที่ได้มีการนำเข้ามาอีก 3 ตัว ทำให้ปัจจุบันจีนมีม้าสายพันธุ์นี้จำนวน 5 ตัว
      


    นักวิชาการสมาคมธุรกิจเพาะพันธุ์ม้าของจีน กล่าวว่า ม้าเหงื่อโลหิตมีแหล่งกำเนิดที่เขตโอเอซิส ประเทศเติร์กเมนิสถาน ผ่านการเพาะเลี้ยงมานานนับ 3,000 ปี จนกลายเป็นม้าสายพันธุ์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลกสายพันธุ์หนึ่ง เนื่องจากม้าเหงื่อโลหิตมีฝีเท้าเร็ว ความอดทนสูง มักจะใช้เป็นพาหนะในการเดินทางระยะไกล และใช้ในพิธีการเดินสวนสนาม ปัจจุบันในระดับสากล มีราคาสูงสุดถึง 10 ล้าน ดอลล่าห์สหรัฐ

      
ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์อธิบายว่า เหงื่อของม้าพันธุ์นี้เป็นสีแดงเนื่องจากปรสิตที่เกาะที่ผิวหนัง ทำให้เหงื่อของม้ามีเลือดเจือปน

งิ้วปักกิ่ง


ประวัติของงิ้วปักกิ่ง
    งิ้วปักกิ่งของจีนถูกขนานนามว่าเป็น“อุปรากรแห่งบูรพา” นับเป็นมรดกทางวัฒนธรรมแห่งชาติขนานแท้ของจีน เพราะเกิดขึ้นในปักกิ่ง จึงมีชื่อเรียกกันว่า “จิงจวี้” ที่แปลเป็นไทยว่า “งิ้วปักกิ่ง” งิ้วปักกิ่งมีประวัติกว่า 200 ปีแล้ว ต้นกำเนิดของงิ้วปักกิ่งต้องย้อนหลังไปถึงงิ้วท้องถิ่นเก่าแก่บางชนิดในอดีต โดยเฉพาะคือ “ฮุยปัน” ที่เป็นงิ้วท้องถิ่นที่เคยแพร่หลายอย่างกว้างขวางในภาคใต้ของจีนเมื่อศตวรรษที่ 18   ในปี 1790  คณะงิ้วท้องถิ่น“ฮุยปัน”คณะแรกเข้าสู่กรุงปักกิ่งเพื่อเข้าร่วมงานแสดงเนื่องในวโรกาสเฉลิมฉลองวันเฉลิมพระชนมพรรษาของจักรพรรดิ หลังจากนั้น มีคณะแสดงงิ้ว“ฮุยปัน”จำนวนไม่น้อยได้ทยอยเข้าไปแสดงในกรุงปักกิ่ง เนื่องจาก“ฮุยปัน”เคลื่อนย้ายไปมาตามที่ต่าง ๆ บ่อย ๆ เข้าใจดูดซับเอาบทละครและศิลปะการแสดงของงิ้วชนิดอื่น ๆ มาปรับใช้เป็นของตัวเองอยู่เสมอ ประกอบกับปักกิ่งเป็นแหล่งที่รวมของงิ้วท้องถิ่นมากมาย จึงช่วยให้ “ฮุยปัน” ได้ยกระดับศิลปะการแสดงสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ในปลายศตวรรษที่ 19  ต้นศตวรรษที่ 20 หลังผ่านการหลอมรวมเป็นเวลานานหลายสิบปี งิ้วปักกิ่งจึงก่อรูปขึ้นในที่สุด และกลายเป็นการแสดงงิ้วบนเวทีชนิดใหญ่ที่สุดของจีน
      
       
      ในบรรดางิ้วชนิดต่าง ๆ ของจีน งิ้วปักกิ่งครองอันดับหนึ่งในหลาย ๆ ด้าน เช่น ความหลากหลายของบทละคร จำนวนศิลปินนักแสดง จำนวนคณะแสดง จำนวนผู้ชมผู้ฟังและอิทธิพลที่กว้างขวาง เป็นต้น
      งิ้วปักกิ่งเป็นศิลปะการแสดงสมบูรณ์แบบที่รวมศิลปะ“การขับร้อง” “การพูด” “การแสดงลีลา”  “การแสดงศิลปะการต่อสู้”และ“ระบำรำฟ้อน”เข้าไว้ด้วยกัน ตัวละครของงิ้วปักกิ่งที่สำคัญแบ่งเป็น “เซิง”( เพศชาย) “ตั้น”( เพศหญิง)  “จิ้ง” ( เพศชาย) และ“โฉว”( มีทั้งเพศชายและเพศหญิง) นอกจากนั้นยังมีตัวละครประกอบอีกจำนวนหนึ่ง
      รูปแบบการแต่งหน้าเป็นศิลปะที่มีเอกลักษณ์ที่สุดของงิ้วปักกิ่ง ความซื่อสัตย์กับความคดโกง ความงามกับความขี้เหร่ ความดีกับความชั่วและความสูงศักดิ์กับความต่ำต้อย เป็นต้น ต่างก็แสดงให้เห็นได้โดยผ่านลวดลายในการแต่งหน้า เช่น สีแดงใช้กับบุคคลที่มีความซื่อสัตย์ สีม่วงเป็นสัญลักษณ์แห่งความชาญฉลาด ความกล้าหาญและความมีน้ำใจ สีดำสะท้อนถึงอุปนิสัยใจคอสูงส่งที่ซื่อตรง สีขาวบ่งบอกถึงความคดโกงและความโหดเหี้ยมของคนร้าย สีน้ำเงินแฝงไว้ซึ่งความหมายที่มีใจนักสู้และเก่ากล้า สีเหลืองใช้กับตัวละครที่โหดร้ายทารุณ ส่วนสีทองกับสีเงิน มักจะใช้กับตัวละครที่เป็นเทวดาและภูตผีปีศาจ
      มีความเห็นทั่วไปว่า ปลายศตวรรษที่ 18 เป็นช่วงเวลาแรกที่เจริญรุ่งเรืองที่สุดของงิ้วปักกิ่ง เวลานั้น นอกจากมีสภาพการแสดงงิ้วที่เจริญคึกคักของภาคเอกชนแล้ว การแสดงงิ้วภายในพระราชวังก็มีบ่อยครั้งเช่นกัน ทั้งนี้เป็นเพราะว่า บรรดาขุนนางผู้ดีเชื้อพระวงศ์ต่างก็ชื่นชอบงิ้วปักกิ่ง ส่วนเงื่อนไขทางวัตถุที่ดีภายในพระราชวังก็ได้เอื้ออำนวยความสะดวกไม่น้อยแก่การแสดงงิ้วปักกิ่ง  ตั้งแต่การแต่งหน้านักแสดง เสื้อผ้าอาภรณ์ เวทีแสดงและการจัดฉากแสดง เป็นต้น งิ้วในวังกับงิ้ว“ชาวบ้าน”ส่งผลต่อกันและกัน
ทำให้งิ้วปักกิ่งมีการพัฒนาก้าวหน้าอย่างเป็นประวัติการณ์
      ตั้งแต่ทศวรรษที่ 1920 ถึง ทศวรรษที่ 1940 ของศตวรรษที่ 20 เป็นช่วงเวลาที่สองที่งิ้วปักกิ่งรุ่งเรืองเต็มที่ สัญลักษณ์แห่งความเจริญรุ่งเรืองของงิ้วปักกิ่งในยุคนี้คือ งิ้วปักกิ่งสำนักต่าง ๆ เกิดขึ้น งิ้วปักกิ่งสี่สำนักที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดคือ สำนักเหมย สำนักซั่ง สำนักเฉิงและสำนักสุน แต่ละสำนักต่างก็มีนักแสดงชื่อดังจำนวนมาก พวกเขาออกแสดงงิ้วปักกิ่งตามเวทีละครอย่างคึกคักในเมืองใหญ่ ๆ เช่น นครเซี่ยงไฮ้และกรุงปักกิ่งเป็นต้นอย่างคึกคัก ทำให้ศิลปะงิ้วปักกิ่งปรากฏสภาพเจริญรุ่งเรื่องเต็มเปี่ยม
      นายเหมยหลันฟังเป็นหนึ่งในศิลปินนักแสดงงิ้วปักกิ่งที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดในโลก เขาเริ่มเรียนรู้การแสดงงิ้วตั้งแต่อายุ 8 ขวบ ขณะอายุ 11 ปีก็ออกแสดงบนเวทีแล้ว เหมยหลันฟังเป็นศิลปินนักแสดงงิ้วปักกิ่งนานกว่า 50 ปี  ระหว่างนี้ เขาได้ประดิษฐ์คิดสร้างและพัฒนาศิลปะงิ้วปักกิ่งในด้านต่าง ๆ ตั้งแต่ทำนองการขับร้อง การพูด ระบำรำฟ้อน ดนตรี  ชุดแสดงและการแต่งหน้าแต่งตัว เป็นต้น ก่อรูปขึ้นเป็นท่วงทำนองศิลปะที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของตน ในปีค.ศ.1919  เหมยหลันฟังนำคณะงิ้วปักกิ่งเดินทางไปแสดงในประเทศญี่ปุ่น นับเป็นครั้งแรกที่ศิลปะงิ้วปักกิ่งแพร่หลายไปสู่โพ้นทะเล  ในปี 1930 เหมยหลันฟังนำคณะงิ้วปักกิ่งเดินทางไปแสดงที่อเมริกา ก็ประสบความสำเร็จอย่างมากเช่นกันต่อมา ปี 1934 เหมยหลันฟังเดินทางไปเยือนยุโรปตามคำเชิญ ได้รับความสนใจยิ่งจากวงการงิ้วของยุโรป  หลังจากนั้น  พื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลกเริ่มถืองิ้วปักกิ่งเป็นสำนักวิชาการแสดงบนเวทีสำนักหนึ่งของจีน
(นักแสดง”ตั้น”ที่มีชื่อเสียง 4 คนคือ นายเหมย หลานฟัง นายเฉิง ยั่นชิว นายสุน ฮุ่ยเซิงและนายซั่ง เสี่ยวหยูน)
      นับตั้งแต่จีนดำเนินการปฏิรูปและเปิดประเทศเป็นต้นมา ศิลปะงิ้วปักกิ่งได้รับการพัฒนาใหม่อีกครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคือ  งิ้วปักกิ่งในฐานะเป็นมรดกทางศิลปกรรมที่มีมาแต่ดั้งเดิมของจีนได้รับการสนับสนุนอย่างมากจากรัฐบาลจีน ทุกวันนี้ ในโรงละครใหญ่ฉางอานในกรุงปักกิ่งจัดแสดงงิ้วปักกิ่งตลอดทั้งปี  การแข่งขันงิ้วปักกิ่งของนักแสดงสมัครเล่นระหว่างประเทศที่จัดขึ้นทุกปีได้ดึงดูดผู้รักงิ้วปักกิ่งจากพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลกมาเข้าร่วม นอกจากนี้  งิ้วปักกิ่งยังเป็นรายการที่ขาดเสียมิได้ในการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมระหว่างจีนกับต่างประเทศทุกครั้ง

รูปแบบการแต่งหน้าของงิ้วปักกิ่ง

      รูปแบบการแต่งหน้าของงิ้วปักกิ่งคือลวดลายในการแต่งหน้าของผู้แสดงงิ้วที่ทาสีชนิดต่างๆเพื่อเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงอุปนิสัย คุณลักษณะและชะตากรรมของตัวละคร โดยทั่วไป การแต่งหน้าสีแดงมีความหมายในทางดี เป็นสัญลักษณ์ของผู้ซื่อสัตย์และกล้าหาญ การแต่งหน้าสีดำมีความหมายกลาง ๆ เป็นสัญลักษณ์ของผู้ห้าวหาญ ไม่เห็นแก่ตัวและเฉลียวฉลาด การแต่งหน้าสีน้ำเงินกับสีเขียวก็มีความหมายกลาง ๆ เป็นสัญลักษณ์ของวีรบุรุษชาวบ้าน การแต่งหน้าสีเหลืองกับสีขาวมักจะมีความหมายในทางลบ เป็นสัญลักษณ์ของผู้เหี้ยมโหดและคดโกง ส่วนการแต่งหน้าสีทองกับสีเงินส่อความหมายที่ลึกลับ เป็นสัญลักษณ์ของภูตผีปีศาจ 

ตัวละครในงิ้วปักกิ่ง

 ตัวละครในงิ้วปักกิ่งของจีนแบ่งเป็นสี่ประเภทหลัก ได้แก่ “เซิง” “ตั้น” “จิ้ง” และ“โฉว” ในสี่ประเภทหลักนี้ยังจะแบ่งย่อยลงไปอีก

เซิงชรา/《วัดกันลู่》เซิงหนุ่ม/《ร้มไม้ต้นหลิว》ตั้นชรา/《นางฉินเซียงเหลียน》
ซิงอี/《สนมเอกเมาเหล้า》จิ้งบู๊/《สู้รบที่เมืองหว่านเฉิง》โฉวบุ๋น/《สามก๊ก》
  อาทิ “เซิง” แบ่งเป็น“เหล่าเซิง”และ “เสี่ยวเซิง”  “เหล่าเซิง”หมายถึงชายวัยกลางคนมักจะปรากฏตัวในภาพลักษณ์ของบุคคลที่ซื่อสัตย์ กษัตริย์หรือขุนนางผู้ใหญ่  “เสี่ยวเซิง”หมายถึงชายหนุ่ม   “ตั้น” แบ่งออกเป็น“ชินอี” “อู่ตั้น”และฮวาตั้น  “ชินอี”หมายถึงสตรีวัยกลางคน โดยทั่วไปแล้วมักจะหมายถึงภรรยาแม่บ้านหรือสาวน้อยของครอบครัวขุนนางผู้ดี  “อู่ตั้น”หมายถึงสตรีที่รู้จักศิลปะในการต่อสู้ “ฮวาตั้น”หมายถึงเด็กสาวหรือเพศหญิงระดับล่าง เช่น สาวรับใช้  “จิ้ง”หมายถึงตัวละครประเภทต่าง ๆ ที่มีรูปแบบการแต่งหน้าที่มีลวดลาย มักจะหมายถึงเพศชายที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวในทางอุปนิสัยใจคอ คุณลักษณะหรือหน้าตาแปลกไม่เหมือนใคร ส่วน“โฉว”ก็หมายถึงตัวละครที่รูปแบบการแต่งหน้ามีลวดลายเช่นกัน แต่ส่วนใหญ่หมายถึงชนชั้นระดับล่างหรือวีรบุรุษพื้นบ้านที่มีความฉลาดหรือตลกขบขัน


Credit: http://thai.cri.cn/chinaabc/